รู้จักโรคไข้หวัดหมู
"โรคไข้หวัดหมู" หรือ Swine influenza เป็นไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ ตามปกติมีการระบาดในหมูเท่านั้น สามารถพบได้ทั้งในหมูเลี้ยง และหมูป่า ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้ง H1N1, H1N2 และ H3N2 แต่บางครั้งหมูอาจมีเชื้อไข้หวัดอยู่ในตัวมากกว่า 1 ชนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดการผสมกันของยีนได้ ทำให้เกิดเป็นไวรัสชนิดใหม่ที่สามารถข้ามสายพันธุ์มาติดต่อยังมนุษย์ได้ เริ่มต้นจากการสัมผัสกับหมูที่เป็นโรค
ไข้หวัดหมูส่วนใหญ่มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว แต่สามารถพบเชื้อได้ตลอดทั้งปี สำหรับโรคไข้หวัดหมูที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกานั้น เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ สายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของคน ซึ่งไม่เคยพบมาก่อน เนื่องจากเป็นการผสมกันของสารพันธุกรรมไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์, ไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และไข้หวัดหมูที่พบในทวีปเอเชีย และยุโรป ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดหมูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหวั่นวิตกว่า เชื้อ H1N1 อาจจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายยิ่งขึ้น
วิวัฒนาการไข้หวัดหมู
ก่อนจะกลายพันธุ์เป็นไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ หรือไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกนั้น ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ดั้งเดิม พบมาตั้งแต่ ค. ศ.1918-1919 ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก จนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน ส่วนใหญ่อายุ 20-40 ปี และตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จากนั้นโรคไข้หวัดหมูได้แพร่ระบาดในช่วงต่างๆ ก่อให้เกิดโรคในคนอยู่มากกว่า 50 ราย โดยผู้ป่วย 61% มีประวัติสัมผัสหมูและมีอายุเฉลี่ย 24 ปี หลังจากนั้นใน ค.ศ.1974 ไข้หวัดหมูได้แพร่ระบาดในค่ายทหาร (Fort Dix) ที่รัฐนิวเจอร์ซี่ มีผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยที่อีก 230 ราย ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการแต่น้อยมาก ทั้งหมดนี้ไม่มีประวัติสัมผัสหมู ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีการพัฒนาจนมีการติดต่อจากคนสู่คน
ต่อมาใน ค.ศ.1988 หญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งเสียชีวิตในรัฐวิสคอนซิน และมีประวัติสัมผัสหมู จึงเกิดการสงสัยว่าไข้หวัดหมูอาจไม่ใช่พันธุ์หมูล้วน (classic H1N1) จนกระทั่งปี ค.ศ.1998 จึงพิสูจน์พบว่า หมูที่เลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกา มีไวรัสไข้หวัดหมูกลายพันธุ์ โดยมีพันธุกรรมผสมระหว่างหมู คน และนก เกิดสายพันธุ์ผสม (Triple assortant virus) H3N2, H1N2, และ H1N1 (วารสารโรคติดเชื้อ JID 2008) และสายพันธุ์ผสมนี้ยังพบได้ในเอเชีย และแคนาดา
จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2008 ได้พบไข้หวัดหมูผสมสายพันธุ์ใหม่ (H1N1) ที่ประเทศสเปน จากหญิงอายุ 50 ปีที่ทำงานในฟาร์มหมู โดยมีอาการไข้ ไอ เหนื่อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คันคอ คันตา และหนาวสั่น แต่อาการเหล่านี้หายไปได้เอง โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาใดๆ จึงไม่มีการคาดการณ์ว่า ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่จะเป็นอันตรายมากนัก
จนกระทั่งล่าสุด เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู ในประเทศเม็กซิโก และมีการยืนยันอย่างแน่ชัดว่า โรคนี้สามารถแพร่กันระหว่างคนสู่คน เนื่องจากเชื้อโรคได้วิวัฒนาการอย่างสมบูรณ์แล้ว
การติดต่อโรคไข้หวัดหมู
เชื้อไข้หวัดหมู มีการติดต่อเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนทั่วไป และเชื้อจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามปกติคนจะไม่ติดเชื้อไข้หวัดหมู ยกเว้นผู้ที่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับหมู ก็อาจติดเชื้อไข้หวัดหมูมาได้ แต่มักไม่ค่อยพบกรณีนี้ ทั้งยังไม่ค่อยพบกรณีไข้หวัดหมูระบาดจากคนสู่คนอีกด้วย แต่กรณีโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโกอยู่ขณะนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า มีการติดต่อจากคนสู่คน เพราะผู้ป่วยบางรายไม่เคยมีประวัติสัมผัสหมูแต่อย่างใด
ทั้งนี้เชื้อโรคจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นด้วยการไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด รวมทั้งติดต่อกันทางลมหายใจ หากอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื่อ และสามารถติดต่อได้จากมือ หรือสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ทั้งนี้เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา แต่ไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู
ขณะที่นักวิชาการขององค์การอนามัยโลก ระบุไว้ว่า โรคไข้หวัดหมู มีอัตราการแพร่ระบาดมากกว่าโรคซาร์ส และไข้หวัดนก แต่อัตราการเสียชีวิตมีน้อยกว่า คืออยู่ที่ร้อยละ 5-7 ขณะที่โรคไข้หวัดนกมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60
แต่ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ยืนยันว่า โรคไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่จะระบาดในวงกว้างหรือไม่ และจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะติดต่อจากคนสู่คนได้ยากง่ายระดับไหน
อาการของโรคไข้หวัดหมู
เมื่อเชื้อไข้หวัดหมูเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนจะปรากฎอาการที่คล้ายกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แต่มีอาการรุนแรงกว่า และรวดเร็วกว่า นั่นคือ มีไข้สูงราว 38 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ ปอดบวม เบื่ออาหาร บางรายอาจท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน จากนั้นเชื้อจะแพร่เข้าสู่กระแสโลหิต จึงทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีการทรงตัวผิดปกติ เดินเอนไปเอนมาเหมือนคนเมาสุรา นอกจากนี้อาจสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกได้ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
การรักษาโรคไข้หวัดหมู
ทางสหรัฐอเมริกา ระบุว่า โรคไข้หวัดหมูสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ คือ วัคซีนแอนตี้ไวรัส "โอเซลทามิเวียร์" (ชื่อทางการค้าว่า ทามิฟลู) และ "ซานามิเวียร์" (ชื่อทางการค้าว่า รีเลนซา) เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสไม่ให้แตกตัว แต่ทั้งนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า วัคซีนเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพเพียงใด เนื่องจากไข้หวัดหมูที่แพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น จึงต้องมีการศึกษาพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ เพื่อใช้ในการรักษาให้มีประสิทธิผลมากขึ้นต่อไป การป้องกันโรคไข้หวัดหมู
โรคไข้หวัดหมู แม้จะเป็นสายพันธุ์หมู แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหมูโดยตรง เพราะเป็นไข้หวัดใหญ่ที่ติดต่อจากคนสู่คน ดังนั้นจึงสามารถรับประทานหมูได้ หากไม่แน่ใจ ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกเสียก่อน คือ ผ่านความร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือต้มในน้ำเดือด ก็จะสามารถทำลายเชื้อให้หมดไปได้
ทั้งนี้ วิธีการป้องกันการติดต่อของโรคได้ดีที่สุด คือ การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด และล้างมือบ่อยๆ
ในส่วนของผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศเม็กซิโก รวมทั้งรัฐแคลิฟอร์เนียและเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศใกล้เคียง ควรติดตามสถานการณ์และคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด และหากมีอาการไข้ไม่ลดภายใน 2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
สำหรับประเทศไทยนั้น ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดหมูในประเทศ ดังนั้นก็ไม่ต้องตื่นตระหนกไปหรอกค่ะ แต่ถ้าหากยังไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์จากโรคไข้หวัดหมู แนะนำว่าให้รับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกแล้วดีกว่า และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ อีกทั้งติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น