วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

โรคชิคุนกุนยา

ชิคุนกุนยา" คืออะไร

"โรคชิคุนกุนยา" (Chikungunya) หรือ "โรคไข้ปวดข้อยุงลาย" ไม่ใช่โรคใหม่อะไรหรอกค่ะ แต่เป็นโรคที่อุบัติขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1955 โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา ก่อนจะแพร่ระบาดไปหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งผู้ที่บรรยายลักษณะของโรคชิคุนกุนยาเป็นคนแรกคือ Marion Robinson และ W.H.R. Lumsden
การแพร่เชื้อโรคชิคุนกุนยาในทวีปแอฟริกานั้น มี 2 วงจร คือชนิด "วงจรชนบท" คน-ยุง-ลิง ซึ่งมีการระบาดเป็นครั้งคราว ก่อนที่คนจะนำเชื้อชนิดนี้ออกมาสู่ชุมชนเมือง ทำให้เกิด "วงจรในเมือง" คน-ยุง กลายเป็นการแพร่ระบาดจากคนสู่คน โดยมียุงเป็นพาหะนั่นเอง
ส่วนในทวีปเอเชียวงจรที่พบคือ "วงจรในเมือง" มียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อติดต่อไปสู่คนได้ โดยเกิดการแพร่ระบาดในทวีปเอเชียครั้งแรกที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ในปี ค.ศ.1963 ขณะที่ในประเทศไทยตรวจพบโรคชิคุนกุนยาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2501 พร้อมๆ กับโรคไข้เลือดออกที่ระบาดเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย จากนั้นประเทศไทยก็ได้พบการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยามาทั้งหมด 6 ครั้ง คือในปี พ.ศ 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์, ปี พ.ศ. 2534 พบที่จังหวัดขอนแก่น และปราจีนบุรี จากนั้นในปี พ.ศ.2536 พบว่ามีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย
ก่อนที่ล่าสุดจะพบการระบาดอีกครั้งในช่วงต้นปี 2552 ที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา สงขลา และปัตตานี ส่งผลให้มีผู้ป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยากว่า 5,596 รายแล้ว (ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552)

ที่มาของชื่อไวรัสชิคุนกุนยา
ชื่อของเชื้อไวรัสชิคุนกุนยานั้น มาจากคำในภาษา Makonde ซึ่งเป็นภาษาของชนพื้นเมืองในแอฟริกาที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแทนซาเนีย และทางตอนเหนือของประเทศโมแซมบิก โดยรากศัพท์พื้นเมืองเดิมเรียกว่า kungunvala ซึ่งมีความหมายเป็นภาษาอังกฤษว่า "That which bends up" สอดคล้องกับลักษณะอาการปวดข้อของโรคนี้

สาเหตุของโรคชิคุนกุนยา
โรคชิคุนกุนยาเกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นจึงมักพบการระบาดในช่วงฤดูฝนที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการเพาะพันธุ์ของยุงลาย

อาการของโรคชิคุนกุนยา
ผู้ที่เป็นโรคชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงอย่างฉับพลัน ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดกระบอกตา หรือมีเลือดออกตามผิวหนัง และอาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งดูเผินๆ คล้ายกับโรคไข้เลือดออก หรือหัดเยอรมัน แต่จะไม่มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นช็อก หรือเลือดออกมากเช่นโรคไข้เลือดออก
อย่างไรก็ตามโรคชิคุนกุนยาสามารถเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่า คือมักจะมีอาการปวดข้อทั้งข้อมือ ข้อเท้า และเป็นข้ออักเสบตามมาด้วย ซึ่งมักจะเปลี่ยนตำแหน่งที่ปวดไปเรื่อยๆ บางครั้งมีอาการรุนแรงมากจนขยับข้อไม่ได้ แต่จะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ หรือบางคนอาจจะปวดเรื้อรังอยู่เป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้

การรักษาและป้องกันโรคชิคุนกุนยา
ทุกวันนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับการรักษาและป้องกันโรคชิคุนกุนยา ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น หากเป็นไข้ก็ให้ยาลดไข้ หรือหากปวดข้อก็ให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น แต่ล่าสุดได้มีผลการศึกษาวิจัยพบว่า ยาคลอโรควิน (Chloroquin) สามารถบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคชิคุนกุนยาได้ผลดีเช่นกัน
ทั้งนี้วิธีที่จะสามารถป้องกันโรคชิคุนกุนยาได้ดีที่สุดก็คือ การกำจัดยุงลายอันเป็นตัวพาหะนำโรค โดยต้องหมั่นตรวจดูแหล่งน้ำภายในบ้าน เช่น บ่อ กะละมัง ชาม โอ่งน้ำ ตุ่ม ฯลฯ ควรหาฝาปิดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่ หรือให้ใส่ทรายอะเบทในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ลงไปในน้ำก็จะสามารถป้องกันการวางไข่ของยุงลายได้ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาฉีดพ่นหมอกควันตามอาคารบ้านเรือนที่มีแหล่งน้ำขังอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย
นอกจากนี้ตัวเราเองก็ต้องป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุง หรือใช้สารไล่ยุง และสวมเสื้อผ้าที่ป้องกันไม่ให้ยุงกัด รวมทั้งยังต้องเฝ้าสังเกตอาการของคนรอบข้างว่ามีอาการใกล้เคียงกับโรคชิคุนกุนยาหรือไม่ หากมีอาการคล้ายเคียงหรือต้องสงสัยให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
จะเห็นว่าแม้โรคชิคุนกุนยาจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้คนป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน และความรำคาญใจจากอาการปวดได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรป้องกัน และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคชิคุนกุนยาไว้ก่อนจะดีที่สุดค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: