วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552





อุปราคาปี2552




ในปีพศ.2552 จะมีปรากฏการณ์เกี่ยวในปีพศ.2552 จะมีปรากฏการณ์เกี่ยวอุปราคา 6 ครั้งบนโลก คือ สุริยุปราคา 2 ครั้ง และ จันทรุปราคา 4 ครั้ง ซึ่งจะมีบางปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในประเทศไทย ผู้เขียนจะเพียงกล่าวถึงเท่านั้นเพื่อเป็นความรู้ อุปราคาทั้ง 6 ครั้งได้แก่

1) สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse) วันที่ 26 มกราคม 2552 เกิดที่ประเทศอินโดนิเซีย แต่สามารถมองเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนได้ในประเทศไทย

2) จันทรุปราคาในเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552

3) จันทรุปราคาในเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) วันที่ 7 กรกฏาคม 2552 มองไม่เห็นในประเทศไทย

4) สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) ที่ประเทศจีน วันที่ 22 กรกฏาคม 2552 แต่ประเทศไทยเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน

5) จันทรุปราคาในเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) วันที่ 6 สิงหาคม 2552 มองไม่เห็น

6) จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) วันที่ 31 ธันวาคม 2552 สามารถเห็นได้จากประเทศไทย


สุริยุปราคาวงแหวน วันที่ 26 มกราคม พศ. 2552


ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เป็นสุริยุปราคาแบบวงแหวน เนื่องจากโลกพึ่งจะผ่านตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 4 มค. และประกอบกับวันที่ 22 มค.ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งไกลจากโลกที่สุด ทำให้ขนาดเชิงมุมของดวงอาทิตย์ (32 arcmin) ใหญ่กว่าขนาดเชิงมุมของดวงจันทร์ (30 arcmin) ทำให้เกิดการบังกันไม่หมด ปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนในครั้งนี้เริ่มต้นทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติค พาดข้ามมหาสมุทรอินเดีย มาขึ้นฝั่งทางทิศตะวันตกของประเทศอินโดนิเซีย รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 14,500 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่เวลา 06.02UT สิ้นสุดที่เวลา 09.54UT และอยู่ในช่วงเป็นวงแหวนอยู่นาน 7 นาที 54 วินาที ที่บริเวณศูนย์กลางของอุปราคาทางตอนกลางของมหาสมุทรอินเดีย และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 50 ของการหวนกลับมาของอุปราคา หรือที่เรียกว่า ซารอส(Saros) ลำดับที่ 131







ภาพตัวอย่าง ของสุริยุปราคาวงแหวน เกิดขึ้นจากขนาดความกว้างเชิงมุมของดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ไม่เท่ากันพอดี ทำให้มีส่วนสว่างของดวงอาทิตย์เหลืออยู่ การสังเกตจะไม่สามารถมองโดยตรงได้ จะต้องมองผ่านฟิลเตอร์กรองแสงที่ได้มาตรฐานเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่บริเวณตอนบนของประเทศอินโดนิเซีย อยู่ในแถบเงามัวของดวงจันทร์ทำให้สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาบางส่วนมองเห็นได้ทั่วทั้งประเทศ โดยที่ทางภาคใต้จะมีส่วนที่มืดมากกว่าทางตอนบนของประเทศ ที่กรุงเทพมหานครจะเริ่มเห็นสัมผัสแรกเวลา 15.54 น. สูงสุดเวลา 17.06 น. จะเห็นดวงอาทิตย์เข้าคราสหายไปประมาณ 30% และสิ้นสุดเวลา 17.59 น.ซึ่งดวงอาทิตย์ในวันนั้นที่กรุงเทพฯจะตกเวลา 18.13 น. ทำให้ที่กรุงเทพมหานครฯ สามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้ตลอดช่วงก่อนอาทิตย์ตกดิน สำหรับทางภาคใต้ ใต้สุดที่ จ.นราธิวาส ละติจูดประมาณ 5 องศาเหนือ จะเริ่มสัมผัสแรกเร็วกว่านิดหน่อยประมาณ 15.37น. เข้าคราสสูงสุดเวลา 16.49น. กินไปมากสุดประมาณ 45% สิ้นสุดเวลา 18.01 น. ทางภาคเหนือ ตอนเหนือสุดที่ จ.เชียงราย ละติจูดประมาณ 20 องศาเหนือ จะเริ่มสัมผัสแรกเวลา 16.09 น. เข้าคราสสูงสุดเวลา 17.06น. เกิดส่วนมืดบนดวงอาทิตย์ประมาณ 20% แล้วสิ้นสุดเวลา 17.52 น. จะเห็นว่าแต่ละส่วนของประเทศจะเห็นในช่วงเวลาต่างกันเล็กน้อย แต่ปริมาณส่วนมืดจะต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น: