ประวัติมโนราห์
เป็นการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ที่มีมาแต่โบราณ ประมาณอายุตามที่หลาย ๆ ท่านสันนิษฐานไว้ ตกสมัยศรีวิชัยหรือไม่ก็ราวพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างน้อย ด้วยกาลเวลาผ่านมานานเช่นนี้ ทำให้ประวัติความเป็นมาของโนราห์เล่าผิดเพี้ยนกันจนกลายเป็นตำนานหลายกระแสเล่าโดยขุนอุปถัมภ์นรากร ( โนราห์พุ่มเทวา) อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ความว่า พระยาสายฟ้าฟาดเป็นกษัตริย์ครองเมือง ๆ หนึ่ง มีชายาชื่อนางศรีมาลา มีธิดาชื่อนวลทองสำลี วันหนึ่งนางนวลทองสำลีสุบินว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู ท่ารำมี 12 ท่า มีดนตรีประโคมได้แก่ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และแตร นางให้ทำเครื่องดนตรี และหัดรำตามที่สุบินเป็นที่ครึกครื้นในปราสาท
กระแสที่ 2 เล่าโดยโนราห์วัด จันทร์เรือง ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ความว่า เมืองปัญจา เจ้าเมืองชื่อ ท้าวแสงอาทิตย์ ชายาชื่อ กฤษณา มีโอรสชื่อ ศรีสุธน มีชายาชื่อกาหนม มีพรานปืนหนึ่งคนชื่อบุญสิทธิ์ พรานออกป่าล่าเนื้อมาส่งส่วยทุก 7 วัน ครั้งหนึ่งหาเนื้อไม่ได้ แต่ได้พบนาง 7 คน มาอาบน้ำที่สระอโนตัด ครั้นกลับมาเฝ้าพระราชาและทูลว่าหาเนื้อไม่ได้ จึงถูกภาคทัณฑ์ว่าถาหาเนื้อไม่ได้อีกครั้งเดียวจะถูกตัดหัว พรานจึงคิดจะไปจับนางทั้ง 7 มาถวายแทนสัก 1 คน ครั้งหนึ่ง ขณะนางทั้ง 7 คนอาบน้ำที่สระอโนตัด พรานบุญลักปีกหางนางโนราห์ แล้วไปขอร้องพญานาคเกลอมาช่วยจับ พญานาคนี้เดิมเคยถูกครุฑเฉี่ยว พรานบุญได้ช่วยชีวิตไว้ ครั้นพรานขอร้องจึงให้การช่วยเหลือ พรานนำนางโนราห์ไปถวายพระศรีสุธน พระศรีสุธนรับไว้เป็นชายา ต่อมาข้าศึกเมืองพระยาจันทร์ยกมาตีปันจา พระศรีสุธนออกศึก แล้วตามไปปราบถึงเมืองพระยาจันทร์ อยู่ข้างหลัง นางกาหนมหาอุบายจะฆ่านางโนราห์ โดยจ้างโหรให้ทำนายว่า พระศรีสุธนมีพระเคราะห์จะไม่ได้กลับเมือง ถ้าไม่ได้ทำพิธีบูชายัญ การบูชายัญนี้ให้เอานางโนราห์เผาไฟ นางโนราห์ จึงอุบายขอปีกหางสวมใส่เพื่อรำไห้แม่ผัวดูก่อนตาย และให้เปิดจาก 7 ตับเพื่อรำถวายเทวดานางรำจนเพลินแล้วบินหนีไปเมืองไกรลาศ พระสุธนตามไปจนได้รับกลับเมือง
กระแสที่ 3 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอ้างถึงหลักฐานอันเป็นตำนานที่ได้ไปจากนครศรีธรรมราช ดังปรากฎในหนังสือตำนานละครอิเหนาว่า”ในคำใหว้ครูของโนราห์มีคำกล่าวถึงครูเดิมของโนราห์ที่ชื่อขุนศรัทธาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา มีความผิดต้องราชทัณฑ์ ถูกลอยแพไปเสียจากพระนคร แพลอยไปติดอยู่ที่เกาะสีชัง พวกชาวเรือทะเลมาพบเข้า จึงรับไปส่งขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ขุนศรัทธาจึงได้เป็นครูฝึกโนราห์ให้มีขึ้นที่เมืองนครเป็นต้นมา”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น