วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทำไมคำว่า"ไทย" ต้องมี "ย" ยักษ์


คำว่า ไทย ซึ่งเขียนโดยมีอักษร ย ยักษ์ สะกด หรือเคียงอยู่กับ ท ทหาร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามว่า ไทย 1 (ไท) น. ชื่อประเทศและชนชาติที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดต่อกับลาว เขมร มาเลเซีย และพม่า.....



ทั้งนี้ หนังสือตำราหรือหนังสือประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นชื่อประเทศหรือชนชาติ ส่วนใหญ่เขียนว่า ไท ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องเขียนให้มีตัว ย ในสมัยหลัง


มีผู้วินิจฉัยไว้ดังมีสาระสำคัญในหนังสือ บันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 มิถุนายน 2475 คำว่า ไท กล่าวกันว่า เนื่องมาจากคำจีนคือ ไท ไถ่ ไท้ ประเด็นสำคัญของปัญหาก็คือเมื่อกล่าวกันว่าเนื่องมาจากคำจีน 3 คำนั้น ไม่มีตัว ย แล้วเหตุใดจึงมาเขียนให้มีตัว ย


ข้อนี้มีผู้เสนอข้อวินิจฉัย 2 ท่าน ดังนี้
1. พระเจนจีนอักษร (สุตใจ ตัณฑากาศ) วินิจฉัยว่า
ก.) คำว่า ไต คงจะเล็งเอาอักษรจีนที่ภาษาแต้จิ๋วอ่านว่า ไต๋ ฮกเกี้ยนอ่านว่า ไต กวางตุ้ง ปักกิ่ง กลาง อ่านว่า ตา หรือ ต๋า ในหนังสือฆังฮียี่เตี้ยน แปลว่า แรกเริ่ม ใหญ่ มหึมา


ข.) คำว่า ไถ่ คงจะเล็งเอาอักษรจีน ซึ่งภาษาจีนทุกภาษาอ่านว่า ไถ่ ในหนังสือฆังฮียี่เตี้ยนแปลว่า ใหญ่ที่สุด


หาก ไท เนื่องมาจากภาษาจีนแล้ว ผู้บัญญัติท่านคงเล็งเอาคำว่า ไถ่ เพราะแปลว่าใหญ่ที่สุด และยังเป็นนามสกุลคนโบราณด้วย ครั้นสืบมาหลายชั่วคน คำว่า ไถ่ ก็แผลงเป็น ไท ส่วนคำว่า ไท้ เป็นภาษาไทย แปลว่าผู้เป็นใหญ่ คงแผลงจากคำว่า ไถ่ หรือ ไท



สำหรับเหตุผลที่เขียนว่า ไทย (มีตัว ย) หนังสือมูลบทบรรพกิจ ฉบับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) กล่าวว่า คำไม้มลายเป็น 2 อย่าง คำไม้มลายที่มี ตัว ย สะกด คำนั้นเป็นภาษามคธอย่าง หนึ่ง คำที่มีแต่ไม้มลายล้วนด้วยเป็นคำไทยอย่างหนึ่ง


การเขียนว่า ไท แล้วเอาตัว ย สะกด ก็ยังอ่านว่าไทย หรือผู้มีอำนาจแผนกอักษรศาสตร์สมัยต่อมา เห็นว่าภาษามคธเป็นภาษาบาลีอันขลัง จึงใช้ ตัว ย สะกดคำว่า ไท ให้เขียนว่า ไทย



2. พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) วินิจฉัยว่า ตรวจดูภาษาไทยในจารึกสุโขทัยก่อนหลักที่ 3 มีคำว่า ไท ใช้โดยมีตัว ย แถมก็มี ไม่มีตัว ย แถมก็มี ได้แต่สันนิษฐานโดยประมวลความในจารึก
คือสันนิษฐานว่าตัว ย เกิดเมื่อจารึกเป็นภาษามคธ (หลักที่ 6) มีคำว่า ลีเทยฺยนามโก ธมฺมราชา เมื่อเรียงพระนามพระเจ้าแผ่นดินลงเป็นภาษามคธมี ตัว ย แล้ว ภาษาไทยก็เลยใส่ตัว ย ลงไปด้วย เพื่อให้พระนามขึ้นสู่ภาษาอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งนับถือกันอยู่มาก


แต่คำว่า ไท ที่มิไช่นามพระเจ้าแผ่นดินยังปล่อยให้ล้นอยู่ก่อน เห็นจะมาเริ่มใส่ตัว ย เติมภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา


ส่วนคำว่า ไท้ คือ ไท แต่ทำไม ไท้ จึงไม่ถูกเติมตัว ย ข้อนี้ก็ต้องตอบโดยหลักว่าภาษามคธไม่มีไม้ไท และความรู้สึกในเวลานี้ดูเหมือนจะแปลกันว่าคำแทนพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ใช้ในทางแทนเทวดาก็มี
ถ้ายกให้ว่าเป็นคำจีนดังที่พระเจนจีนอักษรได้แปลแล้ว ปัญหาเรื่องแปลว่ากระไรก็ไม่มีในคำนี้


สรุปได้ว่าเราใช้คำว่า ไทย (ท ทหาร-สระไอไม้มลาย-ย ยักษ์) สำหรับเรียกประเทศ คน สังคม วัฒนธรรม ภาษา และสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทย หรือเรียกทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในผืนแผ่นดินที่มีชื่อเป็นทางการว่า ประเทศไทย คำว่า ไทย เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า THAI (T-H-A-I)

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552


เรื่องของกบข้างกำแพงวัด



กบ ฟุ้งซ่านตัวหนึ่งนั่งอยู่ข้างกำแพงวัดทุกเช้ามันเฝ้าดูพระออกเดินบิณฑบาตรตั้งแต่เช้ามืด พอพระกลับมาถึงวัดเพื่อฉันเช้า...


กบมันนึกในใจอยากเกิดเป็นพระ เป็น พระสบายดี มีคนถวายอาหารให้กินทุกวัน ..เมื่อพระฉันเสร็จ ก็นำอาหารที่เหลือมากมายนั้นไปให้เด็กวัดกินต่อ แล้วเด็กวัดก็กินกันอย่างเอร็ดอร่อย ..ตอนนี้ กบเปลี่ยนใจอยากเกิดเป็นเด็กวัด แล้วเพราะสบายกว่าพระมันเห็นเด็กวัดหลายคนตื่นสายได้และไม่ต้องออกตามพระไปบิณฑบาตก็ได้ สบายกว่าเยอะเลย...


เมื่อเด็กวัดกินเสร็จ ก็โกยเศษอาหารที่เหลือทั้งหมดให้หมาวัดไปกินแล้วเด็กวัดทุกคนก็ไปช่วยกัน ล้างจาน...ถึงตอนนี้ กบเปลี่ยนใจอยากเกิดเป็นหมาวัด แล้ว เพราะไม่ต้องล้างจาน เหมือนเด็กวัด สบายกว่า...พอหมาวัดกินอาหารเสร็จก็แยกย้ายไปทำหน้าที่เฝ้าบริเวณวัด คอยเห่าคนแปลกหน้า...


ฝูงแมลงวันก็บินมาตอมและกินเศษอาหารต่อจากหมาวัดถึงตอนนี้ กบเปลี่ยนใจ(อีกแล้ว)อยากเกิดเป็นแมลงวัน เพราะสบายที่สุดไม่ต้องทำอะไรเลย หนำซ้ำยังมีกองอาหารให้กินไม่มีหมดด้วย...


ขณะที่เจ้ากบฟุ้งซ่านกำลังคิดเพลินๆอยู่นั้นพอดีหันมาเห็นแมลงวันบินมาใกล้ๆจึงใช้ลิ้นตวัดเอาแมลงวันเข้าปากตัวเองกินโดยสัญชาตญาณ ..


ถึงตอนนี้ กบฟุ้งซ่าน จึงบรรลุธรรมฉับพลันคิดได้ว่า เฮ้อ~ เป็นตัวของเราเองนี่แหละ ดีที่สุดแล้วจงเชื่อมั่นในตัวเอง
ร่มไม่ได้มีไว้แค่กันฝน
เมื่อพูดถึง “ร่ม” ใครก็จะคิดถึงหน้าฝน เพราะจะช่วยทำให้ไม่เปียกฝน และสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น แต่ใครจะรู้บ้างว่า “ร่ม” จริง ๆ แล้วในสมัยก่อนหรือยุคเริ่มแรกเขาไม่ได้มีไว้กันฝน วันนี้เกร็ดความรู้จึงนำเรื่องนี้มาฝากกัน...“ร่ม” หรือที่เรียกว่า “Umbrella” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “Umbra” ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลว่า “บังแดด” ร่มถือกำเนิดขึ้นในดินแดนเมโสโปเตเมีย ประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว ซึ่งดินแดนแถบนี้จะมีพื้นที่เป็นทะเลทรายเกือบทั้งหมด นาน ๆ จะมีฝนตกลงมาสักที ร่มจึงใช้ในการกันแดดมากกว่ากันฝนจนเมื่อราว 1,200 ปีก่อนคริสต์กาล ในสังคมอียิปต์เชื่อกันว่า ท้องฟ้าคือร่างกายของเทพธิดานามว่า “นัต” ซึ่งปกคลุมโลกดุจร่มอันมหึมา มนุษย์จึงได้คิดสร้างร่มขึ้นไว้เป็นตัวแทนของเทพธิดานัต เพื่อใช้ปกป้องคุ้มครองผู้ที่อยู่ใต้ร่มเงา ที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงศักดิ์ โดยเฉพาะกษัตริย์ต่อมา ชาวกรีกได้รับเอาวัฒนธรรมการกางร่มมาจากอียิปต์ ในยุคแรก ๆ นั้น จะมีความเชื่อว่าผู้ที่จะกางร่มได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจเท่านั้น แต่ระยะหลังความเชื่อนี้เริ่มจางลง ทำให้คนธรรมดาก็สามารถที่จะเดินกางร่มได้ แต่การกางร่มก็จำกัดอยู่เฉพาะในวงของสตรีเท่านั้น ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการทำร่มส่วนใหญ่คือ กระดาษ ต่อมาบรรดาผู้หญิงก็เริ่มที่จะเรียนรู้วิธีการทำร่มแบบใหม่ ที่นอกจากจะกันแดดได้แล้ว ยังสามารถกันฝนได้ด้วย โดยการใช้น้ำมันทาลงบนร่มกระดาษให้ทั่ว ซึ่งร่มก็จะสามารถกันน้ำได้จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้ที่กางร่มส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นผู้หญิง เพราะเนื่องจากว่าผู้ชายกลัวที่จะโดนสบประมาทว่าอ่อนแอ จึงไม่ค่อยมีใครนิยมกางร่มเท่าใดนัก จนในปี ค.ศ.1750 โจนาส แฮนเวย์ ชายชาวอังกฤษ เป็นชายคนแรกที่ลุกขึ้นมาพกร่ม ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันของคนรอบข้าง แต่เขาไม่สนใจ และยังยืนยันว่าจะพกร่มต่อไป จนกระทั่งการพกร่มเป็นที่ยอมรับของคนอังกฤษไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม จนกระทั่งถึงทุกวันนี้


เคล็ดลับ 10 ข้อในการจำศัพท์ภาษาอังกฤษ รู้สึกสมองตื้อทุกครั้งเมื่อนึกถึงการที่ต้องท่องจำศัพท์ภาษาอังกฤษซะมากมายใช่มั้ย? ที่จริงการท่องศัพท์ไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ทำให้ปวดหัวหรือเหนื่อยใจเสมอไปหรอก เชิญอ่านเคล็ดลับในการเรียนศัพท์ดังต่อไปนี้แล้วนำไปใช้รับรองได้ผล !


1.ความเกี่ยวเนื่อง: ถ้าคุณจัดคำศัพท์ออกเป็นหมวดหมู่ขึ้นอยู่กับความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันระหว่างศัพท์แล้วเขียนออกมาเป็นแผนผังจะทำให้คุณจำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้น


2. เขียน: การนำคำศัพท์นั้นมาใช้จะทำให้คุณจำได้ฝังใจยิ่งขึ้น ลองเขียนแต่งประโยคโดยนำศัพท์ใหม่ที่เรียนนั้นมาประกอบหรือแต่งเรื่องโดยใช้กลุ่มคำศัพท์หรือสำนวนที่เรียนอยู่


3. วาดรูป: ดึงวิญญาณศิลปินในตัวคุณออกมาใช้โดยการวาดรูปที่แสดงถึงศัพท์ที่คุณเรียนอยู่ ภาพที่คุณวาดจะช่วยกระตุ้นความทรงจำถึงศัพท์นั้นในอนาคต


4. แสดง: แสดงท่าทางประกอบคำศัพท์หรือสำนวนที่คุณกำลังเรียนอยู่ หรือจินตนาการว่าคุณจะแสดงออกอย่างไรในสถานการณ์ที่คุณต้องใช้ศัพท์คำนั้น


5. สร้าง: ออกแบบ flashcards ศัพท์ภาษาอังกฤษพร้อมความหมายแล้วเปิดอ่านหรือท่องในยามว่าง ทำเล่มใหม่ขึ้นทุกอาทิตย์และอย่าลืมทบทวนอันเก่าไปพร้อมๆ กันด้วย


6. ความสัมพันธ์: กำหนดแต่ละสีให้แต่ละคำศัพท์ ความสัมพันธ์ของแต่ละคู่จะช่วยให้คุณจำศัพท์นั้นได้แม่นขึ้นเมื่อนึกถึงคำนั้นในคราวต่อไป


7. ฟัง: นึกถึงศัพท์คำอื่นที่ออกเสียงคล้ายๆ กับคำศัพท์ใหม่ที่คุณพยายามเรียนอยู่ ใช้ความสัมพันธ์ตรงจุดนี้ในการช่วยให้คุณจำการออกเสียงของคำใหม่นั้น


8. เลือก: จำไว้ว่าการเรียนในหัวข้อที่คุณชอบหรือสนใจจะทำให้คุณรู้สึกว่ามันง่ายขึ้น ฉะนั้นคุณควรใส่ใจในการเลือกคำศัพท์ที่คุณคิดว่ามีประโยชน์หรือน่าสนใจ เพราะแม้แต่กระบวนการเลือกคำที่จะเรียนก็มีผลให้คุณจำได้แม่นและเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน !


9. ข้อจำกัด: คุณก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนเราจะจำศัพท์ที่มีอยู่ในดิกชันนารี่ทั้งหมดได้ในวันเดียว เพราะฉะนั้นจำกัดการเรียนศัพท์ใหม่แค่วันละ 15 คำก็พอแล้ว ซึ่งถ้าพยายามจำให้มากคำเกินไปกว่านี้แทนที่มันจะทำให้คุณรู้สึกมั่นใจกลับจะทำให้คุณสมองตื้อแทน


10. สังเกต: พยายามสังเกตหาคำศัพท์ที่คุณกำลังเรียนอยู่เมื่ออ่านหรือฟังภาษาอังกฤษ

วันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา



เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้ วันออกพรรษาตามปกติ (ออกปุริมพรรษา) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย
การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เรียกว่า "ปวารณา"[1] จัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาสสามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อสามารถให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น
เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า
ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหนะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัดวันออกพรรษาหนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนครพร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย
นอกจากนี้ ช่วงเวลาออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นเวลา
กฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปีในวัดต่าง ๆ ด้วย โดยถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมากงานหนึ่ง